หันบ้านทิศทางไหน ได้ลมดี อากาศดี หนีความร้อนได้

 

หันบ้านทิศทางไหน ได้ลมดี อากาศดี หนีความร้อนได้

ปรับทิศบ้านเพื่อลดความร้อนจากแสงอาทิตย์

โดยปกติเส้นทางของดวงอาทิตย์ในบ้านเราจะเริ่มขึ้นจากทิศตะวันออกอ้อมโค้งไปทางทิศใต้และตกทางทิศตะวันตก ดังนั้นทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นทิศที่ได้รับความร้อนมากที่สุดของวัน ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ 8-9 เดือนต่อปี การวางตำแหน่งห้องภายในบ้านในทิศนี้จึงควรเป็นห้องที่ต้องการความร้อน เช่น ห้องน้ำ หรือส่วนซักล้าง ควรหลีกเลี่ยงการวางห้องนอนหรือห้องที่ต้องทำกิจกรรมตอนเย็นถึงค่ำ ส่วนทิศตะวันออกจะได้รับแสงในตอนเช้าถึงเที่ยงซึ่งเป็นแดดที่ไม่แรงนักทิศเหนือเป็นทิศที่รับแสงแดดน้อยที่สุด ดังนั้นสองทิศนี้จึงควรวางตำแหน่งของห้องที่ไม่ต้องการความร้อน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น เป็นต้น นอกจากนี้ ควรจัดวางด้านแคบของตัวบ้านหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่รับแสงแดด เพื่อให้มีพื้นที่ผนังที่รับแสงแดดน้อยที่สุด เนื่องจากผนังอาคารจะดูดซับความร้อนไว้ในเวลากลางวันและคายความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ดังนั้นเมื่อมีพื้นที่ผนังที่โดนแสงแดดน้อยจึงดูดกลืนความร้อนในปริมาณน้อยและคายความร้อนออกมาน้อยเช่นกัน ทำให้ภายในบ้านไม่ร้อนจนเกิดไปในเวลากลางคืน

วิธีวางตัวบ้านเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ

การใช้แสงธรรมชาติจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน แต่ต้องคำนึงถึงความร้อนที่มาพร้อมกับแสงแดดด้วย ดังนั้นการออกแบบช่องแสงและการจัดวางตำแหน่งเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากแสงธรรมชาติควรจะเป็นช่องเปิดทางด้านทิศเหนือเนื่องจากมีความคงที่ของแสงตลอดวันและยังได้รับความร้อนจากแสงแดดน้อยที่สุดแทบตลอดทั้งปี ดังนั้นการจัดวางตำแหน่งห้องที่ใช้งานในเวลากลางวันมากที่สุด อย่างห้องนั่งเล่นจึงควรอยู่ทางทิศเหนือเพราะจะได้รับแสงธรรมชาติอย่างพอเพียงและไม่ร้อนจนเกินไป

การวางตัวบ้านเพื่อใช้ประโยชน์จากลม

ลมประจำฤดูของประเทศไทยจะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งจะเป็นลมหนาวในช่วงหน้าหนาว และจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่จะพัดพาความชุ่มชื้นจากทะเลในช่วงหน้าร้อนและหน้าฝน ดังนั้นจึงควรวางด้านยาวของบ้านหันเข้าหาทิศทางลมให้ลมธรรมชาติพัดเข้าสู่ตัวบ้านเพื่อระบายอากาศและความร้อนออกไปให้ได้มากที่สุด การวางตำแหน่งหน้าต่างและประตูเพื่อเป็นช่องทางให้ลมเข้าและออกต้องดูทิศทางของลมเป็นหลัก และตำแหน่งของหน้าต่างที่เยื้องกันจะช่วยบังคับทิศทางให้ลมไหลผ่านห้องต่างๆ ได้ทั่วถึงทั้งห้อง ทำให้ภายในบ้านเย็นสบายและช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศได้

ที่มา  https://www.hba-th.org